ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิธีสยบ "อารมณ์โกรธ"และขจัด "ความเครียด"




“ความ โกรธ” เป็นเรื่องปกติและเป็นอารมณ์ที่มักเกิดขึ้นกับใครหลายคนได้บ่อย ๆ แต่หากอารมณ์โกรธนั้นสะสมในจิตใจนาน ๆ จะยิ่งก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพร่างกายได้มากมาย เสมือนลูกไฟแห่งความโกรธที่ถูกสะสมขึ้นทุกทีๆ จนเผาไหม้ทั้งกายและใจให้ร้อนรุ่ม ซึ่งผลกระทบที่มีต่อร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้เช่น เกิดโรคหัวใจ เพราะอารมณ์โกรธจะกระตุ้นให้หัวใจคุณบีบตัวเร็วและแรงขึ้น เกิดโรคความดันโลหิตสูง ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเกิด "โรคเครียด" และปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ตามมา


นาย แพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า อารมณ์โกรธมักเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าต้องเป็นฝ่าย “ถูกกระทำ” เช่น ถูกตำหนิ ถูกนินทา ถูกใช้งานหนัก ถูกขับรถปาดหน้า ถูกโกง ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกทำให้อับอาย เป็นต้น ปกติคนเราเมื่อโกรธแล้วมักจะขาดสติ และทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่น ซึ่งทำให้อาจจะต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง เช่น โกรธแล้วไปทำร้ายร่างกายหรือฆ่าผู้อื่นก็ต้องติดคุก หมดอนาคต โกรธแล้วทำหน้างอ พูดจาหยาบคาย ก็เป็นการก่อศัตรูทำให้เสียสัมพันธภาพต่อกันเป็นต้น ที่ร้ายกว่านั้นคือ โกรธแล้วความดันโลหิตจะสูงขึ้น หัวใจจะเต้นเร็วและแรงขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาจถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือไม่ก็หัวใจวายได้ นอกจากนี้ กล้ามเนื้อจะหดเกร็งตัว หรือเกิดความเครียดสูง ส่งผลบริเวณใบหน้า ทำให้มีริ้วรอยเหี่ยวย่น โกรธบ่อย ๆ จะทำให้เกิดความเครียดสูงและแลดูแก่กว่าวัยอันควร !


อธิบดี กรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำว่าคนเราควรฝึกที่จะจัดการกับอารมณ์โกรธให้ได้ อย่าให้ความโกรธทำร้ายตัวเอง และทำร้ายผู้อื่น วิธีจัดการกับความโกรธอย่างง่าย ๆ คือ ให้ฝึกสังเกตอารมณ์ของตัวเอง และให้รู้ตัวทันทีว่าโกรธ เช่น บอกกับตัวเองว่า “ฉันโกรธแล้วนะ” เป็นต้น เพราะการรู้ตัวเองตั้งแต่เริ่มโกรธ จะช่วยให้เราหยุดยั้งพฤติกรรมรุนแรงที่จะตามมาหลังความโกรธได้ เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มโกรธแล้ว ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ ตั้งสติอยู่กับลมหายใจแบบนี้สักพักหนึ่ง คงเคยได้ยินได้ฟังคำแนะนำกันมาบ้างแล้วว่า เวลาโกรธให้ นับ 1-10 จะช่วยลดความโกรธได้ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่แทนที่จะนับเลขแบบเร็ว ๆ ก็ให้นับลมหายใจเข้าออกแทน หลังจากหายใจช้าๆ แล้ว ก็ควรทำอะไรให้ช้าลงด้วย เช่น ขับรถให้ช้าลง พูดให้ช้าลง พร้อมทั้งผ่อนคลายร่างกายส่วนต่าง ๆ เช่น ถ้ากำหมัด ก็คลายออก ถ้าทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ก็ผ่อนคลายใบหน้า ถ้ายืนตัวแข็ง ก็ให้นั่งลง เอนหลังพิงพนักเก้าอี้ในท่าที่สบาย ๆ เป็นต้น ถ้าออกจากสถานการณ์ที่ทำให้โกรธได้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้


ด้าน ของ “ความเครียด” ที่ตามมาหลังจากอารมณ์โกรธ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของบุคคลเมื่อต้องพบเจอกับ สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ไม่พอใจหรือสิ่งที่คุกคาม กดดันกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมของคนเราได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่าคนที่มีความเครียดสูงนั้น มักจะมีอาการผิดปกติของร่างกาย ได้แก่

- ปวดหัว เป็นไมเกรน
- ปวดท้อง อ่อนเพลีย ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย
- นอนไม่หลับ เป็นต้น
- มีความผิดปกติทางจิตใจ เช่น หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ท้อแท้ ซึมเศร้า เป็นต้น
- มีความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรามากขึ้น จู้จี้ขี้บ่น เก็บตัว ชอบชวนทะเลาะ กัดเล็บ นอนกัดฟัน

สำหรับ วิธีการจัดการกับความเครียดมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น หันมาให้ความสนใจกับการออกกำลังกาย เล่นกีฬา ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ท่องเที่ยว เล่นกับลูก เล่นกับสัตว์เลี้ยง ปลูกต้นไม้ ไปเสริมสวย นวดตัวนวดหน้า พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทำบุญทำทาน สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ เป็นต้น ซึ่งแต่ละวิธีสามารถเลือกใช้เพื่อผ่อนคลายความเครียดทุกรูปแบบได้


เคล็ด ลับของการจัดการกับความเครียดก็คือ การทำกิจกรรมที่ตรงกันข้ามกับงานที่ทำอยู่ประจำ เช่น ถ้าทำงานนั่งโต๊ะทั้งวัน เลิกงานก็ควรคลายเครียดด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าทำงานที่ต้องวิ่งวุ่นทั้งวัน ก็ควรคลายเครียดด้วยการพักผ่อนอยู่นิ่งๆ ความเครียดนั้นเกิดขึ้นได้ในทุก สถานการณ์ หรือทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง การผ่อนคลายความเครียดจึงต้องทำเป็นประจำทุกวัน วันละหลายๆ ครั้งด้วย จึงควรเตรียมวิธีการคลายเครียดเอาไว้ให้หลากหลาย เพื่อจะได้เลือกใช้ให้เหมาะกับเวลาและสถานที่ และเพื่อป้องกันความเบื่อหน่ายด้วย


อย่า ปล่อยให้ปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความโกธรและความเครียดคุกคามอยู่ฝ่ายเดียว ควรจัดการกับความโกธรและความเครียดเสียแต่เนิ่น ๆ แล้วชีวิตเราจะมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน

กรมสุขภาพจิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น