ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โรคที่มากับน้ำท่วม


เนื่อง จากในขณะนี้หลายๆ จังหวัดได้ประสบอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ทำให้เกิดน้ำท่วมเสียหายหลายพื้นที่ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ในหลายพื้นที่ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องของระดับน้ำที่อาจขึ้นสูงได้ตลอดเวลา และอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ประชาชนควรจะระมัดระวังก็คือโรคภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงภาวะน้ำท่วม


โรคและภัยที่อาจเกิดขึ้นในภาวะน้ำท่วม และวิธีป้องกัน

1.โรคติดต่อทางเดินอาหาร ได้แก่โรคอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษและตับอักเสบจากไวรัสA กลุ่มโรคเหล่านี้ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป การป้องกัน น้ำท่วมเป็นน้ำที่อาจมีเชื้อโรคปนอยู่ จึงควรระวังอย่าให้เข้าปากและไม่ควรนำมาล้างภาชนะถ้วยชามหรือผักผลไม้ ควรดื่มน้ำต้ม น้ำฝน หรือน้ำที่ใส่คลอรีนแล้ว รับประทานอาหารสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ถ่ายอุจจาระในส้วมหรือในหลุมแล้วกลบ ไม่ถ่ายลงในน้ำ ขยะหรือของเสียที่เปียกแฉะควรใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่นแล้วทิ้งในถังรองรับ ล้างมือให้สะอาดหลังการถ่ายอุจจาระและก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หากมีอาการอุจจาระร่วงควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) จนอาการเป็นปกติ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น มีไข้ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ควรปรึกษาแพทย์

2. โรคผิวหนัง ที่สำคัญคือโรคน้ำกัดเท้าหรือเท้าเปื่อย ลักษณะในระยะแรกผิวหนังจะอักเสบจากความเปียกชื้น และการระคายเคืองจากความสกปรก ต่อมาเมื่อผิวลอกเปื่อยนานๆ มักจะมีสาเหตุมาจากเชื้อรา เชื้อนี้เจริญงอกงามได้ดีบริเวณซอกผิวหนังที่อับชื้น อาการจะเริ่มด้วยตุ่มใสบริเวณง่ามเท้า มีอาการคันมากจนแตกเป็นแผล ซึ่งจะทำให้มีอาการอักเสบจากการติดเชื้อแทรกซ้อน การป้องกัน หลัง จากย่ำน้ำแล้วควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามง่ามเท้า อาจโรยด้วยแป้งฝุ่น ถ้าเป็นไปได้ควรสวมรองเท้ายางหุ้มข้อเมื่อจะย่ำน้ำ หากมีอาการเท้าเปื่อยควรทาด้วยขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

3. ภัยจากสัตว์มีพิษกัดต่อย งู และสัตว์มีพิษต่างๆเช่นแมลงป่อง ตะขาบ อาจหนีน้ำขึ้นมาบนบ้านโดยเฉพาะบริเวณที่มืด การป้องกัน หาก ย้ายสิ่งของหรือเดินในที่มืด หรือเวลากลางคืน ต้องมีแสงสว่างพอและระวังเป็นพิเศษ ถ้าถูกสัตว์เหล่านี้กัดหรือต่อยควรรัด เหนือบริเวณแผลด้วยผ้าหรือสายยางให้แน่นแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที ควรคลายผ้าหรือสายยางที่รัดออกเป็นระยะๆ ทุก 10 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนบ้าง

4. ภัยจากอุบัติเหตุ ที่พบบ่อยคือ ถูกวัตถุหรือของมีคมตำหรือบาด เช่นหนาม ตะปู เศษแก้วหรือกระเบื้อง ทำให้มีบาดแผลและอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้และอีกสาเหตุที่พบได้บ่อยตอนน้ำท่วม ก็คืออุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าดูด เมื่อร่างกายเปียกน้ำหรืออยู่ในที่ชื้นแฉะกระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านร่างกาย ได้ หากน้ำท่วมถึงสวิตซ์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า จะทำให้ได้รับอันตรายถูกไฟฟ้าดูดถึงเสียชีวิตได้ การป้องกัน ขณะ เดินในน้ำต้องระวังตัวอยู่เสมอ ถ้าเป็นไปได้ควรสวมรองเท้ายางหุ้มข้อ หากมีบาดแผลควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดเพื่อสิ่งสกปรกหรือวัตถุแปลกปลอมภายในบาด แผลออกให้มากที่สุด แล้วใส่แผลด้วยยาฆ่าเชื้อ กรณีไฟฟ้าดูด ให้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าที่แผงสวิตซ์รวมก่อนและดำเนินการย้ายสวิตซ์ ปลั๊ก และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พ้นจากระดับน้ำ ห้ามต่อสายไฟและจับต้องปลั๊กไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่อยู่ในน้ำหรือขณะที่ตัวเปียก

5. เลปโตสไปโรซิส หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อโรคฉี่หนู เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของตับและไต ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อที่น่องมาก ตาแดง ต่อมามีอาการตัวเหลือง และอาจบวมบริเวณหลังเท้าและหนังตา ติดต่อโดยเชื้อโรคที่ผ่านมากับปัสสาวะหนูที่อยู่ในน้ำแล้วไชเข้าสู่ผิวหนัง การป้องกัน เมื่อจะต้องย่ำน้ำควรสวมรองเท้ายางหุ้มข้อ กำจัดหนูที่เป็นพาหะนำโรค ถ้ามีอาการของโรคนี้ควรรีบไปพบแพทย์

6. โรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยเข้าไป หรือใช้สิ่งของภาชนะร่วมกับผู้ป่วย ผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลีย ตรากตรำและอยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อาจมีอาการไอร่วมด้วย การป้องกันควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงและอบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เปียกชื้นนานเกินไป

7. โรคตาแดง เกิดจากน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้าตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง ปวดแสบตา น้ำตาไหลมาก การป้องกัน เมื่อ น้ำสกปรกเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดเนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำตา ขี้ตาและน้ำมูกของผู้ป่วย จะต้องหลีกเลี่ยง การใช้ของใช้ที่อาจปนเปื้อนเชื้อร่วมกับผู้ป่วย เช่นผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น